Sunday, May 6, 2012
พนักงานใหม่ ต้องทำตัวอย่างไร
เมื่อมีพนักงานใหม่เข้ามาทำงาน แน่นอนว่าจะต้องถูกจับตามองในช่วง 3 เดือนแรก คุณในฐานะพนักงานใหม่อาจรู้สึกตื่นเต้นกับการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมขององค์กร รวมทั้งการแสดงความสามารถให้เป็นที่ยอมรับของหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน และนายจ้าง
อย่างไรก็ดี ความผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดของพนักงานใหม่มักพบอยู่ 2 ประการ ประการแรก คือ พนักงานใหม่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรได้ อีกประการหนึ่งคือ พนักงานใหม่ไม่ค่อยถามในสิ่งที่เขาไม่รู้ ซึ่งองค์กรมักจะคาดหวังพนักงานที่กล้าคิดกล้าถามมากกว่าพนักงานที่นิ่งเฉย ไม่แสดงความกระตือรือร้น
หากคุณกำลังเปลี่ยนงาน หรือกำลังปรับตัวเข้ากับตำแหน่งใหม่ หรือแม้แต่เพิ่งเริ่มทำงานเป็นครั้งแรก นี่เป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยให้คุณปรับตัว และสร้างความประทับใจให้กับเพื่อนร่วมงานที่ทำงานร่วมกับคุณ
เคารพในวัฒนธรรมองค์กร
การแต่งกายตามสบายเกินไป หรือการไปถึงที่ทำงานสาย เป็นสิ่งที่แสดงถึงความไม่เคารพ ไม่ให้เกียรติองค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่พนักงานใหม่ไม่ควรกระทำ หากคุณต้องการประสบความสำเร็จ ให้สังเกตจากผู้ที่ประสบความสำเร็จว่าเขาวางตัว และปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไร หากมีโอกาสเรียนรู้จากผู้สอนงานคุณ ซึ่งแน่นอนเขาย่อมอยู่ในองค์กรมาเป็นเวลานาน คุณควรเรียนรู้กฎขององค์กร รวมถึง ธรรมเนียมปฏิบัติ ทัศนคติ ค่านิยมขององค์กร เพื่อที่คุณจะสามารถปรับตัวเข้ากับองค์กรใหม่ได้โดยเร็ว
เต็มใจเรียนรู้
คุณอาจต้องพบกันกระบวนการทำงานที่ไม่คุ้นเคยในช่วงหนึ่งเดือนแรกของการทำงาน แต่คุณยังไม่ควรพยายามชักจูงเพื่อนร่วมงานให้คิดในแบบที่คุณคิด แม้ว่าคุณจะคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ดีกว่า จงคุยกับเพื่อนร่วมงานเพื่อทำความเข้าใจเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังของกระบวนการและการดำเนินงานของพวกเขา และพยายามที่จะเรียนรู้ ให้พวกเขาเริ่มมีความเชื่อใจและเคารพในตัวคุณเสียก่อน จากนั้นคุณค่อยให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการดำเนินงานของพวกคุณให้ดีขึ้น
ทำความเข้าใจในหน้าที่ความรับผิดชอบของคุณ
ในช่วง 2-3 วันแรกคุณควรหาโอกาสคุยกับผู้จัดการของคุณถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของคุณ ตำแหน่งคุณมีบทบาทอย่างไรต่อภาพรวมขององค์กร โดยคุณอาจตั้งคำถามดังต่อไปนี้
•อะไรคือเรื่องสำคัญและเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการก่อน
•คุณควรรายงานความคืบหน้าในโครงการที่คุณรับผิดชอบในรูปแบบใด และบ่อยแค่ไหน
•วิธีการในการประเมินสมรรถนะในการทำงานเป็นอย่างไร
การทำความเข้าใจที่ชัดเจนจะช่วยให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รู้ตัวเองว่าเมื่อไรที่คุณต้องการคำแนะนำ
อีกปัจจัยหนึ่งสู่ความสำเร็จในบทบาทใหม่ของคุณก็คือความเต็มใจที่จะยอมรับเมื่อคุณต้องการความช่วยเหลือ หากคุณยังลังเลที่จะขอความช่วยเหลือคุณมักจะทำผิด หากคุณยอมรับว่าคุณไม่มีความชำนาญในสิ่งนั้น ย่อมดีกว่าการส่งงานที่ไม่ตรงตามความคาดหวัง
สังเกตสไตล์ในการสื่อสาร
สังเกตวิธีการที่ผูจัดการ เพื่อนรวมงาน หรือพนักงานในแผนกอื่น ๆ แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ว่าคนส่วนใหญ่ชอบที่จะสื่อสารกันอย่างไร สื่อสารกันทางอีเมล การโทรศัพ์ หรือคุยกันต่อหน้า หากหัวหน้างานของคุณคาดหวังให้คุณส่งข้อมูลรายละเอียดสำคัญ แต่คุณกลับส่งอีเมลแบบไม่เป็นทางการไปให้โดยไม่ตั้งใจ อาจสร้างความไม่ประทับใจให้แก่หัวหน้างาน ดังนั้นไม่ควรพลาดที่จะสังเกตสไตล์ของพวกเขาก่อนล่วงหน้า
ให้เวลากับการเข้าสังคม
เมื่อเริ่มต้นตำแหน่งใหม่ คนทำงานมืออาชีพให้ความสำคัญกับการทำงานควบคู่ไปก้บการทำความรู้จักเพื่อนร่วมงาน คุณต้องแสดงให้ทุกคนเห็นว่า คุณทุ่มเทให้กับการทำงาน แต่ก็ยังต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานของคุณและหัวหน้าด้วย คุณจะพบว่าเพื่อนร่วมงานของคุณสามารถพันธมิตรที่แข็งแกร่งของคุณและมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายในการทำงานได้ง่ายขึ้น
ทำงานให้มากขึ้น
คุณจะกลายเป็นทรัพยากรที่ล้ำค่าของนายจ้างใหม่ได้ด้วยการอาสาสมัครทำงานใหม่ ๆ แม้ว่าจะไม่ใช่งานในหน้าที่ของคุณก็ตาม สิ่งนี้จะช่วยให้คุณสามารถเรียนรู้งานที่หลากหลาย ทั้งยังแสดงให้เห็นความตั้งใจของคุณเพื่อช่วยผู้อื่นในองค์กรด้วย
ขอความคิดเห็น
ในช่วงการทดลองงาน 3 เดือนนั้น คุณควรมีการขอความคิดเห็นเกี่ยวกับ การทำงานของคุณจากนายจ้างเป็นระยะ เมื่อผ่านไปหนึ่งเดือนแรก คุณอาจขอนัดหัวหน้างานของคุณ เพื่อหารือเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการทำงานของคุณในช่วงที่ผ่านมา เพื่อทราบว่าเขาพึงพอใจกับคุณหรือไม่ มีตรงไหนที่ต้องการให้ปรับปรุงบ้าง ในอีก 2 เดือนข้างหน้าคุณจะได้พัฒนาตนเองให้ดีขึ้นตามที่นายจ้างคาดหวัง
การเป็นพนักงานใหม่ให้ประสบความสำเร็จ ต้องเริ่มต้นให้ดี เพราะก้าวแรกที่มั่นคง ย่อมส่งผลต่อก้าวต่อ ๆ ไป ดังนั้น หากพนักงานใหม่ตั้งใจเรียนรู้และสามารถปรับตัวเข้ากับองค์กรได้อย่างรวดเร็ว ก็จะสามารถทำงานต่อไปได้อย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ
Post on 24-Jun-10
โดย JobsDB
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment