จุดมุ่งหมายในอาชีพ (Career Objective) เป็นสิ่งที่ HR ต้องการเห็นในเรซูเม่ของคุณ เพราะเป็นสิ่งช่วยสรุปให้ HR ทราบได้ภายในไม่กี่วินาทีว่า คุณมีดีอะไร และคุณต้องการทำอะไรให้แก่องค์กร หากคุณเขียนจุดมุ่งหมายในอาชีพด้วยคีย์เวิร์ดที่น่าสนใจ มีการเรียบเรียงอย่างดี และตรงกับที่นายจ้างกำลังมองหา เขาก็จะเพิ่มความสนใจที่จะอ่านเรซูเม่เพื่อทำความรู้จักตัวคุณมากขึ้น
แต่ผู้หางานมักกลัวว่าการระบุเจาะจง เป็นการจำกัดตัวเองเกินไป จึงเขียนจุดมุ่งหมายในอาชีพแบบกว้าง ๆ บ้างก็เขียนแบบคลุมเครือ ทำให้ HR มองว่าผู้หางานไม่ชัดเจนในตัวเอง ซึ่งอาจเสียโอกาสได้งานดี ๆ ที่ต้องการ ยิ่งไปกว่านั้น แทนที่ผู้หางานจะเขียนจุดมุ่งหมายในอาชีพ กลับเขียนสิ่งที่พวกเขาต้องการลงไปแทน เช่น
Career objective: To obtain a challenging position that enhances my skills and allows for advancement.
ดังนั้น ผู้หางานควรทำความเข้าใจว่า จุดมุ่งหมายในอาชีพสะท้อนมุมมองของนายจ้าง ไม่ใช่มุมมองของผู้สมัครงาน เพราะฉะนั้น ผู้สมัครงานควรบอกถึงคุณค่าที่ตนเองมี และสามารถทำประโยชน์ให้แก่องค์กรได้ มากกว่าที่จะเขียนว่าต้องการอะไรจากองค์กร
แม้จะไม่มีกฎตายตัวว่าต้องเขียนจุดมุ่งหมายในอาชีพในเรซูเม่ แต่ผู้สมัครงานที่ระบุไว้อย่างชัดเจนนั้นจะได้เปรียบกว่า หากข้อความที่เรียบเรียงมาอย่างดีเพียง 1 – 2 ประโยค สามารถดึงดูดความสนใจของ HR ได้อย่างรวดเร็ว นั่นก็หมายความว่า คุณมีโอกาสได้สัมภาษณ์งานเร็วขึ้นด้วย
จุดมุ่งหมายในอาชีพยังช่วยเพิ่มความชัดเจนให้กับเรซูเม่ของผู้หางาน ในกรณีที่ผู้หางานมีการย้ายสายงาน ทำให้ประสบการณ์ที่เขียนไว้ในเรซูเม่ อาจไม่ตรงกับคุณสมบัติที่ระบุไว้ในประกาศรับสมัครงานเสียทีเดียว หากคุณไม่ระบุจดมุ่งหมายในอาชีพ HR อาจเข้าใจว่าคุณส่งใบสมัครมาผิดก็ได้ ซึ่งในจุดนี้ช่วยให้ HR เข้าใจตัวคุณมากขึ้น
ในโลกของเทคโนโลยีนั้นช่วยให้การหางาน สมัครงานทำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ผู้หางานสามารถแก้ไขเรซูเม่ของตนได้ตลอดเวลา จะปรับปรุงจุดมุ่งหมายในอาชีพเมื่อไรก็ได้ หรือจะสร้างเรซูเม่ไว้หลาย ๆ ฉบับที่มีจุดมุ่งหมายในอาชีพที่แตกต่างกัน
ไปก็ได้ ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องยากเลยกับการใส่จุดมุ่งหมายในอาชีพให้ชัดเจน และสอดคล้องกับคุณสมบัติที่นายจ้างต่องการ เท่านี้ก็ทำให้ HR อยากอ่านเรซูเม่ของคุณมากขึ้นแล้ว